มีนัดถ่ายรูปนักเรียนกลุ่มที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล รอบนี้เอากล้อง Fujifilm X-E4 ติดมือไปพร้อมเลนส์ 56mm f1.2 กับ 10-24 f4 มีปัญหาเล็กน้อย เพราะปรับตัวยังไม่ได้ และใช้ได้แค่ไฟล์ Jpeg
รีวิวที่แนะนำ สำหรับผู้สนใจ Fujifilm X-E4
- Fuji X-E4 รีวิวรูปถ่ายคน ดีไหม กับโทนฟิล์ม Classic Chrome
- รีวิวเลนส์มือหมุน Geekster 35mm f1.1 ละลายสวย สไตล์วินเทจ
- Fujifilm X-E4 รีวิวรูปถ่ายจบหลังกล้อง เลนส์ 35mm f1.4
สำหรับรีวิวนี้จะมาแชร์ประสบการณ์ใช้งาน Fujifilm X-E4 ครั้งแรกกับการถ่ายบพอร์ทเทรต ยังอยู่ในระหว่างที่ปรับตัว เพราะปุ่มเมนูมันไม่เหมือนกับ X-T30 ที่ใช้อยู่ก่อนหน้า
ภาพถ่ายนักเรียน Fujifilm X-E4 ไม่แต่งรูป
การตั้งค่า
- ฟิล์มสี Astia
- โหมด A ตั้ง ISO 3200 ออโต้
- เปิดโฟกัสใบหน้าและดวงตา (ต้องไปตั้งค่าด้วยนะ มันไม่เซ็ตไว้ตั้งแต่แรก)
- โหมดโฟกัส AF-S
- เลนส์ 56mm f1.2 เปิดรูรับแสงที่ f1.2
เกี่ยวกับรูปเซ็ตนี้
ไปถ่ายรูปให้น้องๆโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล กำลังจะจบ ม.6 ก็นัดกันมาถ่ายรูปกลุ่มเล่นๆ
เซ็ตนี้เป็นสี Jpeg ไม่ได้ปรับความสว่าง ก็เลยดูมืดๆหน่อย ถ้าถามว่าสวยมั้ย ส่วนตัวไม่ได้รู้สึกว่าแตกต่างจากกล้องรุ่นเก่าๆ
เพราะฟิล์มสี Astia มันมีอยู่ทุกกล้อง ถ่ายจาก X-T20 ก็สวยเหมือนกัน ถ้าจะแตกต่างคงต้องดูที่ไฟล์ RAW ตอนนี้ก็รอว่า Lightroom จะปล่อยอัพเดทเมื่อไหร่
โฟกัสดีมั้ย ?
ถือว่าทำได้ดี ไม่รู้สึกว่ามีปัญหา กล้องตัวนี้เซ็นเซอร์เดียวกันกับ X-T4 แม้ว่าจะรัวได้ไม่เท่า แต่ความไวการโฟกัสและเกาะติด ทำได้ดีมากๆ และใช้เลนส์รุ่นเก่าอย่าง 56mm f1.2 ก็ยังโฟกัสไว
และขอย้ำอีกทีว่า แม้ว่าทรงกล้องจะคล้ายๆกับ X-A แต่ประสิทธิภาพเหนือกว่ามาก
โหมดโฟกัส X-E4 ที่แนะนำ
ถ้าจะโฟกัสดวงตาให้แม่นๆ แนะนำใช้ AF-C นะ ตอนนั้นผมลืมเปลี่ยน (ถ้าเป็นกล้องรุ่นเก่า จะเปลี่ยนโหมดนี้ได้จากหน้ากล้อง)
AF-S มันโฟกัสดวงตาให้อยู่ แต่พอแบบมีการเคลื่อนที่ มันจะไม่ติดตามให้ และทำให้หลุดโฟกัสไปเลย
สกินโทนสไตล์กล้อง Fujifilm
ลองถ่ายรูปกับสีผิวหลายๆแบบ ถือว่าทำได้ดีในแบบของฟูจิ ไม่ติดเขียว และไล่โทนผิวได้ดี
เช่น บางคนที่หน้าผากคล้ำๆหน่อย กล้องที่สกินโทนไม่ดี ถ่ายมาแล้วจะเห็นชัด แต่ฟูจิจะค่อยๆไล่ระดับโทนไม่ให้กระโดดเกินไป
แต่ข้อเสียอย่างหนึ่งคือถ่าย Jpeg โดยเลือกสี Astia จะเห็นสิวชัดมาก เพราะจะเห็นสีแดงชัด แต่ปกติถ้าถ่าย Raw หรือใช้ฟิล์มสีตัวอื่น จะไม่เห็นสิวเด่นขนาดนี้
ความคม
ตัวเซ็นเซอร์ X-Trans CMOS 4 ให้ภาพที่คมใสอยู่แล้ว แต่ส่วนสำคัญอยู่ที่เลนส์ ซึ่ง 56mm f1.2 ถ่ายภาพออกมาคมใสอยู่แล้ว
ถ้ามันไม่คมถ่ายย้อนแสงมาฟุ้งแน่นอน ฟุ้งจนภาพเสีย แบบนั้นผมเคยเจอมาแล้วเวลาที่ใช้เลนส์ไม่คม
และถ้าถ่าย Jpeg ภาพจะคมใสกว่าถ่าย Raw เพราะมันทำ Sharpen รวมทั้งจัดการ Noise มาให้เรียบร้อยจากในกล้อง
การจับถือ
ในส่วนของเลนส์ 56mm f1.2 ไม่ได้เป็นเลนส์ที่ใหญ่มาก แต่มันใหญ่สำหรับ X-E4 และพอไม่ใส่กริปการจับถือไม่มั่นคง รวมทั้งเลนส์อื่นๆที่ลองใส่ เช่น 23mm f1.4 กับ 16mm f1.4
ส่วนเลนส์ที่เอาไปอีกตัววันนั้นก็คือ 10-24mm f4 ก็มีเสียวๆที่จะทำให้กล้องหลุดมืออยู่ ส่วนตัวไม่ได้กะว่าจะใช้เลนส์พวกนี้เป็นจริงเป็นจังเท่าไหร่ แค่เอาไปทดสอบเพื่อที่จะเอารูปมาให้ดู
ภาพถ่าย Fuji X-E4 ที่แต่งแล้ว
ในส่วนของ Jpeg ขนาดไฟล์ค่อนข้างใหญ่ 11MB ถ้าถ่ายรูปช่วงกลางวันหรือตอนเย็นที่มีแสงดีๆ ก็พอเอามาแต่งสวยๆได้
แต่ยังไงก็ไม่สู้ RAW โดยเฉพาะการถ่ายในช่วงแสงน้อย อย่างวันนี้ที่ผมเอา 10-24mm f4 หลายๆชอตที่ถ่ายมาภาพมันดูแบนๆ
แต่ถ้าเป็นตอนกลางวันอย่างภาพนี้ ไฟล์ Jpeg แต่งง่าย แต่งเบาๆก็พอ ต่างจากการถ่ายช่วงแสงน้อย มันแต่งเบาไม่ได้ ถ่ายออกมาให้ดีก็ยาก
ปล. ตอนถ่ายบางซีน มาผิวจะคล้ำๆกว่าปกติ เพราะไม่ได้ตั้ง WB และวันนั้นแสงไม่ค่อยดี
ภาพถ่าย Fuji X-E4 เลนส์ 10-24mm f4 แต่งรูปแล้ว
ในส่วนของเซ็ตนี้เป็นรูปที่แต่งแล้วนะ ไม่แต่งดูไม่ได้เลย
เซ็ตนี้ถ่ายมาให้ดูว่า final ที่ทำได้จากการถ่าย Jpeg เป็นอย่างไร และรูปส่วนใหญ่ผมเปิดที่ f5 ใช้ฟิล์มสี Astia เช่นกัน นอกนั้นเปิดเป็น Auto
ปล. วันนั้นถ้าผมใช้เลนส์ 16mm f1.4 คิดว่าน่าจะได้รูปที่ดีกว่านี้อยู่ แล้วเปิด f2.8 ก็พอ
เลนส์ 10-24mm f4 ไม่เหมาะกับการถ่ายภาพช่วงแสงเริ่มน้อยแบบนี้
สรุปการใช้งาน
- ถ้าจะซื้อ Fujifilm X-E4 มาใช้งานกับเลนส์พวกนี้ ซื้อกริปมาด้วยเลย น่าจะสบายมือกว่า
- ประสิทธิภาพดี โฟกัสไว ระหว่างถ่ายรูปไม่รู้สึกติดขัดอะไรในด้านนี้
- จะดีกว่านี้ ถ้าได้ลองใช้งานไฟล์ RAW ใน Lightroom ตัวไฟล์ Jpeg มันดีมาตั้งแต่รุ่นเก่าๆ จนไม่ต้องพิสูจอะไรกันอีกแล้ว